วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีชักพระ

                                                    ประเพณีไทย
                                 ประเพณีชักพระ

          ลากพระหรือชักพระ หรือแห่งพระ เป็นประเพณีของชาวภาคใต้ ที่ปฏิบัติมา ตั้งแต่โบณาณ ประเพณีลากพระ เล่ากันมาเป็นเชิงพุทธตำนานว่า หลังจาก พระพุทธองค์ทรงพระทำปาฏิหาริย์ปราเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง (ที่จริงเป็นใต้ต้นมะม่วง ชื่อ คัณฑามพ์ แปลว่า ต้นมะม่วงที่นายคัณฑะปลูก) กรุงสาวัตถีก็เป็นฤดูพรรษาพอดี พระองค์เสด็จจากมนุษยโลก ไปจำพรรษา  ณ ดาวดึงส์ ด้วยพระประสงค์จะแสดงธรรม โปรดพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นอุบัติ (เกิด) เป็นเทพบุตรสถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพ (เหตุที่ทรงใช้ดาวดึงส์ เนื่องจากพระองค์มีพระประสงค์ จะโปรดเทพชั้นต่ำกว่าด้วย เพราะหากไปโปรดพุทธมารดาที่ดุสิต เทพชั้นต่ำกว่าจะขึ้นไปไม่ได้ แต่เทพชั้นสูงกว่า ลงมาชั้นต่ำกว่าได้ เปรียบเหมือนคนธรรมดาจะเข้าวังไม่ได้ แต่พระราชเสด็จออกมา ฟังธรรมกับคนธรรมดาได้) พระองค์โปรดพุทธมารดาจนสิ้นสมัยพรรษา (ออกพรรษา) แล้วเสด็จกลับมนุษยโลก ณ เมืองสังกัสสะนคร ในวันขึ้น 15 เดือน 11



ประเพณีลากพระบก
     การที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ดังกล่าว ทำให้ชาวเมือง มีความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการแสดงถึงความปีติยินดี ชาวเมือง จึงอัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับ ของพระพุทธองค์  จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงถือกันมา เป็นประเพณีลากพระ หรือชักพระ หรือแห่พระสืบมา ครั้นเลยพุทธกาล และเมื่อมีพระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชน จึงนำเอาพระพุทธรูปมาแห่งแหนสมมติแทนพระพุทธองค์

    มีผู้สันนิษฐานว่า ประเพณีลากพระ เกิดขึ้นในประเทศอินเดียตามลัทธิ หรือศาสนาพราหมณ์ ที่นิยมเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ  โดยชาวพุทธ ได้นำเอาประเพณีของศาสนาพราหมณ์ มาดัดแปลงให้ต้องกับคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ประเพณีนี้ จึงมีมาช้านานแล้วในประเทศอินเดีย ต่อมาได้ถ่ายทอดมายังประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ ได้รับเอาประเพณีนี้เข้ามาถือปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง


ประเพณีลากพระน้ำ

     การที่เกิดประเพณีลากพระขึ้นในภาคใต้ และกลายเป็นประเพณีสำคัญสืบมานั้น ซึ่งจะเนื่องด้วยพุทธตำนานและลัทธิศาสนาพราหมณ์ แล้วยังสันนิษฐานว่า น่าจะมี คตินิยมดั้งเดิมอย่างอื่นเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย กล่าวคือ ในเดือน 11 นั้น เป็นที่ภาคใต้ กำลังเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพการเกษตร สิ่งปรารถนาที่พ้องกัน จึงได้แก่การขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  งานลากพระจึงมุ่งขอฝน เพื่อการเกษตร จนเกิดเป็นคติความเชื่อว่า การลากพระทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

     ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้มีอยู่  2  ประการ  คือ  ลากพระทางบก กับ ลากพระทางน้ำ

    ลากพระทางบก คือการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐาน บนนมพระ หรือบุษบก แล้วแห่แหน โดยการลากไปบนบก วัดส่วนใหญ่ ที่ดำเนินการประเพณีลากพระวิธีนี้ มักตั้งอยู่ในที่ไกลแม่น้ำลำคลอง
    ลากพระทางน้ำ  เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐาน บนบุษบก ในเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ ประเพณีลากพระ ที่มัก กระทำด้วยวิธีนี้ เป็นของวัดที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง

     ก่อนถึงวันลากพระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมี "การคุมพระ" ที่วัด การคุมพระ คือการตีตะโพนประโคมก่อนจะถึงวันลากพระประมาณ 10 - 15 วัน เพื่อเป็นการเตือนให้ชาวบ้าน ทราบว่า จะมีการลากพระ เพื่อปลุกใจชาวบ้าน ให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระ และเพื่อชาวบ้านจะได้มาช่วยกันเตรียมการต่าง ๆ  ล่วงหน้า ผู้คุมพระได้แ่ก่เด็กวัด และประชาชนที่อยู่ใกล้วัด  การคุมพระ จะมีทั้งกลางวันและกลางคืนติดต่อกันไปจนถึงวันลากพระ ในช่วงที่มีการคุมพระ พระสงฆ์สามเณร และชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเรือพระ ซึ่งถ้าเป็นเรือพระบก จะหมายรวมถึง "นมพระ" หรือบุษบก ร้านไม้ และ "หัวเฆ่" หรือไม้ขนาดใหญ่ สองท่อน  ในปัจจุบันมักใช้ล้อเลื่อน หรือรถ แทน "หัวเฆ่" ถ้าเป็นเรือพระน้ำ จะหมายถึง "นมพระ" ร้านไม้ และลำเรือ ซึ่งอาจจะใช้ลำเดียวหรือนำมาผูกติดกัน 3 ลำ การเตรียมเรือพระ จะต้องทำให้เสร็จทันวัน
ลากพระ

การรวมพระ

   
การซัดต้มพระ


     การตกแต่งเรือพระและนมพระ (บุษบก) แต่ละวัด ต่างก็พยายามตกแต่งกัน อย่างวิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ นมพระนับเป็นสวนสำคัญที่สุดของเรือพระ หลังคานมพระ นิยมทำเป็นูปจตุรมุข หรือจตุรมุขซ้อน ตกแต่งด้วยหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจัง ฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เสานมพระ ใช้กระดาษสี แกะลวดลายปิด หรือแกะสลักไม้อย่างประณีตงดงาม ยอดนมพระจะเรียกชะลูด ปลายสุด มักใช้ลูกแก้วฝัง เมื่อต้องแสงแดด จะทอแสงระยับ

     การสร้างนมพระ หรือบุษบกสำหรับลากพระบก ส่วนใหญ่นิยมสร้างบนร้านไม้ ซึ่งประกอบติดแน่นอยู่บนไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อน ที่รองรับช่วงล่าง ไม้สองท่อนนี้ สมมติเป็นพญานาคทางด้านหัว และท้ายทำงอนคล้ายหัวเรือ และท้ายเรือ บางทีทำเป็นรูปหัวนาค และหางนาคหรือสัตว์อื่น ๆ  ถ้าทำเป็นรูปหัวนาค และหางนาคที่ลำตัวนาคมักประดับด้วยกระจกต่าง ๆ  ร้านไม้กลางลำตัวนาค ซึ่งใช้สำหรับวางบุษบก มักจะสร้างสูงราว 1.50 เมตร นมพระหรือบุษบก บนร้านไม้ ที่สร้างอย่างประณีต ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ที่เรียกว่า พระลากรอบ ๆ  นมพระจะประดับประดาด้วยธงผ้าแพรสี นอกจากนี้ ยังมีธงราว ธงยืนห้อยระโยง ระยาง  และมีเครื่องประดับแต่งอื่น ๆ  เช่น อุบะดอกไม้แห้ง ระย้าย้อย ต้นกล้วย ต้นอ้อย มะพร้าว เป็นต้น

ต้มสำหรับกีฬาซัดต้ม

     ด้านหน้านมพระ นอกจากจะตั้งบาตรสำหรับต้มจากผู้ทำบุญแล้ว มักจะตั้งธรรมาสน์หรือเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์ผู้ควบคุมดูแลการลากพระได้นั่ง ส่วนด้านหลังของนมพระมีโพน (กลองเพล) ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ ซึ่งใช้สำหรับ ประโคม ที่ด้านหน้าของหัวเฆ่  หรือนาคทั้งสอง มีนาคขนาดใหญ่พอกำรอบ ยาวประมาณ 30  เมตร ผูกอยู่ข้างละเส้น เชือกนี้สำหรับให้ชาวบ้านลากพระ  ถ้าหาก การลากพระนั้น เป็นการลากบนถนนหรือพื้นที่เรียบนิยมทำล้อ 4 ล้อ ที่ใช้ตัวนาค ทั้งสองข้างด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องออกแรงในการลากพระมากนัก แต่ถ้าผ่านที่ไม่เรียบ หรือผ่านทุ่งนา ก็ไม่นิยมใส่ล้อ แต่จะคงตามแบบเดิมไว้ สำหรับในปัจจุบัน นิยมทำเรือพระบกบนรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ เพราะสะดวกต่อการชักลาก

     การสร้างเรือพระเพื่อใช้ลากพระทางน้ำ การเตรียมการไม่แตกต่างจากเรือพระ ที่ใช้ลากพระทางบก  อาจใช้เรือลำเดียว  ตั้งนมพระกลางลำเรือแล้ว ใช้ฝีพายเรือพระ หรือใช้เรือขนาดใหญ่ 3 ลำ มาเรียงกันผูกให้เรือติดกันอย่างมั่นคง แล้วใช้ไม้กระดานวางเรียงให้เต็มลำเรือทั้งสามลำ เพื่อเป็นพื้นราบสำหรับวางร้านไม้ และบุษบกตรงกลางลำตกแต่งเรือพระและนมพระด้วยแพรพรรณ กระดาษสีธงทิว และต้นไม้ มีที่นั่งสำหรับพระภิกษุผู้ควบคุม และมีเครื่องดนตรีสำหรับประโคม เช่นเดียวกับในเรือพระบก ส่วนที่หัวเรือพระมีเชือกนาคเท่ากับของเรือพระบกผูกไว้ สำหรับให้เรือชาวบ้านมาช่วยกันลาก พระพุทธรูปที่นิยมใช้ในพิธีลากพระ นิยมใช้ปางอุ้มบาตร แต่มีหลายท้องถิ่นนิยมใช้ปางคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นปางขอฝน ที่ใช้ในพิธีพิรุณศาสตร์ของภาคกลาง  แต่บางวัดใช้พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร และปางอื่น ๆ  นอกจากนี้ อาจจะใช้ 1 องค์ 2 องค์ หรือ 3 องค์ ก็ได้

  นอกจากการเตรียมเรือพระแล้ว ในส่วนของชาวบ้าน ถ้าเป็นการลากพระทางบก จะจัดเตรียมขบวนผู้คนที่จะลากพระ อาจจะจัดให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง เตรียมชุดเครื่องแต่งตัว เพื่อลากเรือพระ หรือมีชุดรำ ฟ้อนหน้าเรือพระ แต่ถ้าเป็นการลากพระทางน้ำ ชาวบ้านจะเตรียมการตกแต่งเรือพาย สรรหาฝีพาย ซ้อยเรือแข่งและเตรียมเครื่องแต่งตัวตามที่ตกลงกัน  นอกจากนี้ สิ่งที่ทุกครอบครัว จะต้องทำ คือ การเตรียม "แทงต้ม" หรือ "ทำต้ม" หรือ "ขนมต้ม"  โดยต้องเตียมหา ยอดกระพ้อไว้ให้พร้อมก่อนถึงวันลากพระ 2-3 วัน นำข้าวสารเหนียวแช่ให้อ่อนตัว แล้วผัดด้วยน้ำกระทิให้พอเกือบสุก จึงนำมาห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูป 3 มุม คล้ายฝักกระจับ แต่ละลูก มีขนาดโต-เล็ก ตามแต่ต้องการและตามขนาด ของใบกะพ้อ  เมื่อห่อเสร็จนำไปนึ่งให้สุกอีกทีหนึ่ง การทำต้มดังกล่าว เพื่อใช้ใส่บาตรหรือแขวนเรือพระเป็นพุทธบูชา

  วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 การเตรียมเรือพระจะต้องเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้าน ซึ่งไปทำบุญออกพรรษาที่วัด เมื่อเสร็จการบุญจะพร้อมกันอัญเชิญพระพุทธรูป สำหรับใช้ลากพระมายังพระวิหารหรือศาลา เพื่อทำพิธีสรงน้ำ เปลี่ยนผ้าทรง แล้วสมโภชในตอนค่ำ พระสงฆ์จะเทศนาเกี่ยวกับการเสด็จสู่ดาวดึงส์ จนกระทั่ง เสด็จกลับยังมนุษยโลกของพระพุทธองค์ และในคืนนี้ จะมีการคุมพระกันจนสว่าง โดยนำเครื่องประโคมไปคุมกันบนเรือพระ

     การลากพระเริ่มในตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา และเริ่มลากพระเป็นวันแรก ประชาชนจะเดินทางไปวัดเพื่อนำภัตตาหารไปใส่บาตร ที่จัดเรียงไว้ตรงหน้าพระลาก บางทีจะอาราธนาพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ หรือบางทีรอให้พระฉันภัตตาหารเช้าเสียก่อน จึงอาราธนาก็ได้ การตักบาตร ตอนเช้าตรู่วันนี้ บางท้องที่ เรียกว่า "ตักบาตรหน้า่ล้อ"  ในบางท้องที่ที่วัดส่วนใหญ่ อยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ทางวัดจะเตรียมรับภัตตาหารด้วยการสร้างศาลาเล็ก ๆ  เสาเดียวไว้ริมน้ำหน้าวัด หรือถ้ามีศาลาหน้าวัดจะนำบาตรสำหรับรับอาหารไปวางไว้ เพื่อให้ประชาชนนำอาหารไปใส่บาตร ศาลาที่ตั้งบาตรเพื่อรับภัตตาหารนี้ เรียกว่า "หลาบาตร"

     เมื่อพระฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้าน จะนิมนต์ พระภิกษุในวัดนี้ ขึ้นนั่งประจำเรือพระ พร้อมทั้งอุบาสก และศิษย์วัดที่จะติดตาม และประจำเครื่องประโคม โพน ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ แล้วชาวบ้านจะช่วยกันลากเรือพระ ออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่

    ถ้าเป็นการลากพระทางน้ำ จะใช้เรือพายลาก
    ถ้าเป็นการลากพระทางบก จะใช้คนเดินลาก

     ขณะที่ลากเรือผ่านไปทางใด ประชาชนที่รออยู่ จะนำต้มมาแขวนที่เรือพระ เพื่อทำบุญกันไปตลอดทาง สำหับการลากพระทางน้ำ เรือพายหรือเรือแจว จะเข้าไปชิดเรือพระที่กำลังลากอยู่ไม่ จึงใช้วิธีปาต้ม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ซัดต้ม" ไปยังเรือพระ ให้คนคอยรับ

     เรือพระที่ลาก เกือบทุกท้องถิ่นนิยมกำหนด ให้มีจุดหมาย หรือที่ชุมนุมเรือพระ ทั้งการลากพระทางบก และการลากพระทางน้ำ เรือพระ ทั้งหมดในละแวก ใกล้เคียงกัน จะไปยังที่ชุมนุมในเวลาก่อนที่่พระฉันเพล เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาส "แขวนต้ม" และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุ-สามเณรได้ทั่วทุกวัด หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่ชุมนุมเรือพระ จึงเป็นที่รวม ของประชาชนจำนวนมาก ที่มาร่วมงาน
กีฬาซัดต้มกีฬาซัดต้ม
กีฬาซัดต้ม

     การซัดต้มเป็นกีฬาพื้นเมืองชนิดหนึ่ง ที่นิยมเล่นกัน ในวันลากพระ กีฬาชนิดนี้ มีเพียงในบางท้องที่เท่านั้น การซัดต้มจะเป็นกีฬาที่อาจจะจัดขึ้นที่วัด หรือที่ชุมนุมเรือพระ  เมื่อลากพระไปถึงที่นัดหมายกันแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ทำลูกต้มสำหรับปาด้วยข้าวตากผสมทราย ห่อด้วยใบตาลโตนด หรือใบมะพร้าวมาสานแบบตะกร้อ อย่างแน่นหนาขนาดเท่ากำปั้นพอเหมาะมือ หลังจากนั้น นำลูกต้มไปแช่น้ำให้ข้าวตากพองตัว มีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อปาถูกฝ่ายตรงข้าม จะทำให้เจ็บ ส่วนสนามหรือเวที ในการซัดต้ม อาจจะให้พื้นดินธรรมดา หรือจะปลูก ยกพื้นประมาณ 1 เมตร กว้างด้านละ 1-2 เมตร ห่างกันประมาณ 8-10 เมตร ก็ได้ สำหรับผู้ซัดต้ม จะต้องเลือกคนที่มีลักษณะรูปร่างความแข็งแรง ความชำนาญที่พอจะสู้กันได้ ทั้งคู่จะยืนในพื้นที่ ที่เตรียมไว้ หันหน้าเข้าหากัน มีกรรมการเป็นผู้ควบคุม การซัดต้มจะผลัดกันซัดคนละ 3 ครั้ง โดยมีลูกต้มวางข้างหน้าฝ่ายละ 25-35 ลูก การแต่งกาย ของผู้ซัด จะนุ่งกางเกง หรือนุ่งผ้าโจงกระเบนก็ได้ บางคนอาจมีมงคลสวมหัว หรือมีผ้าประเจียดพันแขน ก่อนแข่งขัน มีการร่ายคาถาอาคม ลงเลขยันต์ที่ลูกต้ม เพื่อให้แคล้วคลาดจากลูกต้มของฝ่ายตรงข้าม ผู้ที่ชนะ ในการซัดต้ม มักเป็นคนใจกล้า สายตาดี มีความสามารถ ในการหลบหลีกหรือรับลูกต้มไว้โดยไม่ถูกตัว ผู้ที่ปา หรือซัดถูกคู่ต่อสู้มากจะเป็นฝ่ายชนะ

     การประกวดเรือพระจะ จะกระทำกันภายหลังที่เรือพระ ทุกลำไปถึงที่ชุมนุมเรือพระแล้ว กรรมการผู้จัด การประกวด จะนำเครื่องหมายไปติดที่เรือพระ เพื่อบอกตำแหน่งที่ได้รับรางวัล โดยแยกประประกวดเป็น 2 พวก ใหญ่ ๆ คือ เรือพระบก และเรือพระน้ำ เมื่อพระฉันเพลแล้ว และประชาชนผู้มาร่วมงาน ได้ร่วมสนุกสนานพบปะกันพอสมควร ครั้นเวลาบ่าย หรือเย็นก็จะลากเรือพระวัดของตนแยกย้ายกันกลับวัด ในปัจจุบัน เรือพระแต่ละลำ อาจจะอยู่ในที่ชุมนุม 3-5 วัน หรือมากกว่า เนื่องจากมีประชาชนมาร่วมทำบุญ บริจาคทรัพย์สินที่เรือพระเป็นจำนวนมาก เมื่อลากพระ กลับถึงวัดแล้ว พระภิกษุ-สามเณร และช้าวบ้าน จะช่วยกันจัดแจงนำพระลากลงจากนมพระ แล้วช่วยกัน ทำความสะอาด และจัดเก็บข้าของต่าง ๆ  หลังจากนั้น ก็จะแยกย้ายกลับบ้าน

     ประเพณีลากพระกระทำกันแทบทุกจังหวัด ของภาคใต้ แต่แหล่งลากพระที่มีชื่อเสียงอย่างมาก คือ อำเภอเกาะพงัน อำเภอเมือง สุราษฎร์ธานี และอำเภอพุนิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร  อำเภอกระบุรี  จังหวัดระนอง  อำเภอปากพนัง  และอำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  อำเภอระโนด  และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  และอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น